Sunday, January 15, 2017

[Foot Fit Journey] ทุกเรื่องที่อยากรู้ก่อนไป Everest Base Camp

ตั้งใจตั้งแต่ก่อนเดินทางแล้วว่า การเดินทางครั้งนี้เราจะต้องได้อะไร และเราจะต้องทำอะไรสักอย่างหลังจากกลับมานอกจากแค่โพสต์อวดรูปสวยๆให้ชาวบ้านเขาตื่นตา ตอนแรกก็ยังคิดไม่ออกว่านอกจากความสุขส่วนตัวที่เราได้แล้วเราจะทำให้ทริปนี้มันมีประโยชน์ต่อคนอื่นอย่าไรดี ความคิดมันมาเริ่มก่อร่างสร้างตัวหลังจากเดินทางกลับมา แล้วเวลาเจอใครก็จะถามถึงการผจญภัยของเรา ด้วยความที่คนรอบตัวเราไม่ได้เป็นสาย trekking หรือ adventure กันสักเท่าไหร่ การไป Everest Base Camp ครั้งนี้ของเราเลยเป็นเรื่องสุดแสนประหลาดใจของคนรอบตัวที่มีซีโร่ไอเดียเกี่ยวกับการ trekking หรือแม้กระทั่ง EBC คืออะไร ทุกคนจะถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ กับเรา เลยคิดว่ารวบรวมคำถาม คำตอบที่เจอแบบ FAQ มาเขียนไว้เลยดีกว่า เพราะเราเชื่อว่าคนที่ไม่เคยทำอะไรแบบนี้คงอยากรู้ และแม้เส้นทางนี้จะเคยมีคนเดินทางไปมาแล้วมากมาย แต่ก็ยังถือได้ว่ามีข้อมูลน้อย




แต่..ต้องขอออกตัวว่า บทความนี้เราจะเขียนเล่าในแบบเรา ซึ่งไม่ได้เป็น trekking expert เลยมาแบบขอเม้าท์ให้คนที่ไม่เคยมีความรู้เรื่อง trekking ที่ Everest Base Camp ได้เข้าใจง่ายๆแบบคนไปครั้งแรกเล่าให้คนที่อยากมีครั้งแรกบ้างฟังละกัน

Everest Base Camp 2016


Everest Base Camp (EBC) คืออะไร
ตอบแบบเข้าใจง่ายๆเพราะไม่สามารถตอบแบบเข้าใจยากได้ละกัน (คือเวลาจะไปไหนไม่เคยตั้งใจอ่านประวัติความเป็นมา) Everest Base Camp อยู่ในอุทยานแห่งชาติ Sagarmatha National Park ของประเทศเนปาล เป็นฐานแรกที่ทุกคนที่จะปีนขึ้นยอดเขาเอเวอร์เรสต์มาปักหลัก และเป็นจุดที่เต็นท์อำนวยการของการปีนเขาปักหลักอยู่ ถ้าได้ดูหนังเรื่อง Everest น่าจะพอเห็นภาพมากขึ้น คือ เต็นท์หมอ เต็นท์ประสานงานหลักของทีมนั่นเอง ดังนั้น การที่เราไป EBC  ไม่ได้แปลว่าเราไปปีนเอเวอร์เรสต์มานะจ๊ะทุกคน และถ้าเราไปในหน้าปีนเขา หรือเรียกว่า summit season ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม พื้นที่ตรงนั้นจะมีเต็นท์ของนักปีนเขาอยู่





แล้วถ้าอยากไป มันไปยังไง
เดินไปค่ะ .. คือ ไม่ได้กวนตีน แต่มันต้องเดินไปจริงๆ ซึ่งการเดินนั้นมีทั้งแบบเดินด้วยตัวเอง หรือจะจ้างบริษัททัวร์จัดการให้ก็ได้ ง่ายที่สุดคือ การจ้างทัวร์จัดการนั่นแหละ ซึ่งแพคเกจก็จะรวมทุกอย่าง ตั้งแต่ค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ กาฐมาณฑุ - ลุคลา ค่าโรงแรมทีพักทั้งที่กาฐมาณฑุและตลอดการเดินทาง ค่าไกด์ ค่าลูกหาบค่าอาหารทุกมื้อ ค่าเข้าอุทยาน ค่า permit ต่างๆ ค่าเช่าถุงนอน แต่ จะไม่รวมค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าอาบน้ำร้อน ค่าทิป เป็นต้น

แต่ละบริษัทราคาไม่แตกต่างกันมาก เพราะบริษัททัวร์ในเนปาลมีเยอะมาก และก็แข่งขันกันสูงมาก แพคเกจของเราคือแบบ private คนเดียว มีไกด์ 1 ลูกหาบ 1 ระยะเวลารวม 15 วัน (แพลนแรกคือ EBC Gokyo Chola Pass) ในราคา 1,250 USD ดังนั้นถ้าจำนวนคนเยอะขึ้นก็จะราคาต่อคนถูกลง เราเลือกสอบถามมา 2 เจ้าจากการอ่านรีวิวและเข้าไปดูเว็บไซต์ ราคาไม่ต่างกัน แต่เลือกไปกับเจ้านี้ Adventure Magic Trek เพราะตอบอีเมลเร็วกว่า ถามปุ๊บ ตอบปั๊บทุกครั้ง เลยเลือกเจ้านี้ เหตุผลมีแค่นี้เลยจริงๆ


ตลอดทางมีเพื่อนร่วมทริปมากมาย

เด็กตัวเท่านี้ก็ไปถึง EBC นะ

แล้วถ้าไม่อยากไปกับทัวร์ล่ะได้ไหม
ได้ค่ะ มีหลายคนที่เลือกเดินเอง ไม่มีไกด์ ไม่เอาลูกหาบเพราะเส้นทางเดินชัด และไม่เปลี่ยวมีคนเดินตลอด หรือจะเอาแค่ลูกหาบไม่เอาไกด์ก็มี หรือจะเอาไกด์ที่เป็นลูกหาบในตัวก็ได้ เราว่า ถ้าไม่ได้ช่ำชองเส้นทาง หรือมีสกิลการเอาชีวิตรอดสูง ใช้บริการบริษัททัวร์เถอะ มันไม่ได้แพงกว่าไปเองสักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่ามีคนที่พูดภาษาท้องถิ่นดูแลคุณได้ตลอดเส้นทาง ทั้งยังเป็นการสร้างงานให้พวกเขาด้วย เดินไปมีเพื่อนคุยเล่นไป เล่านู่นนี่ให้ฟังมันก็เพลินๆดี ไกด์ที่ดีไม่ใช้แค่เป็นคนนำทาง เขาจะสามารถช่วยชีวิตคุณได้ด้วยหากเกิดอะไรฉุกเฉินขึ้นมา


มีป้ายบอกทาง


ทริปนี้ใช้เวลากี่วัน
ถ้าเอาแค่เดินจนจบ ใช้เวลาประมาณ 11-12 วัน แล้วแต่ว่าจะพักปรับระดับความสูงกี่ครั้ง และใช้เวลาในการเดินลงกี่วัน สำหรับเรา ขึ้น 8 ลง 3 วันที่เหลือจากที่แพลนไว้คือลงมาอยู่กาฐมาณฑุเก๋ๆ สรุปง่ายๆก็คือ อย่างน้อยก็ต้องมี 15 วันสำหรับการ trekking เส้นทางนี้ แนะนำว่าควรเผื่อวันไว้หน่อย เพราะเครื่องบินเส้นทางนี้ได้รับการยกย่องเรื่องดีเลย์และยกเลิกเที่ยวบินเป็นอย่างมาก การจะบินแต่ละครั้งนี่ลุ้นระทึกจริงๆว่าจะได้ไปไหม

ร้านอาหารตามทาง ซื้อน้ำซื้อขนมได้


ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่
อย่างที่บอกว่าไปว่าแพคเกจเราอยู่ที่ 1,250 USD หรือประมาณ 45,000 บาท ซึ่งเราว่าเอาเป็นราคายืนพื้นได้เพราะเรทนี้น่าจะแพงสุดด้วยความที่ไปคนเดียวไม่มีคนหาร ตั่วเครื่องบินไปเนปาลอยู่ที่ประมาณ 12,000 17,000 บาท เราได้โปรการบินไทยที่ออกมาช่วงเดือนตุลาคมพอดี อยู่ที่ 11,363 บาท (เด็ดป่ะล่ะ) เงินติดตัวใช้จ่ายตลอดทริปแบบไม่รวมช้อปปิ้งสัก 10,000 ก็พอ อย่างเราที่เป็นสายเปย์ ถนัดกับการใช้เงินแก้ปัญหา เราตีค่าใช้จ่ายที่เราหมดไปแบบกลมๆรวมทุกอย่าง กระทั่งทิปไกด์และลูกหาบแล้ว แถมซื้อของไร้สาระกลับามากมายด้วยของทริปเนปาลครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 80,000 บาท


ทางเดินประมาณนี้

บางช่วงก็เดินบนหินแบบนี้ไปตลอดทาง


เส้นทางเดินเป็นอย่างไร
สำหรับ EBC เราจะเริ่มเดินกันที่ Lukla (ลุคลา) ซึ่งจะต้องนั่งเครื่องบินขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 2,860 ม. จากนั้นจะเป็นการเดินไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 8-9 วันเพื่อไปถึง EBC และหลังจากนั้นคือการเดินลงเส้นทางเดิม ทางเดินส่วนใหญ่คือดิน หิน ทราย กรวด ขี้วัวขี้ลา ขึ้นเขา ลงเขาสลับกันไป อย่าถามว่าต้องเดินข้ามเขากี่ลูก เพราะเคยถามไกด์แล้ว นางตอบว่า “เดินข้ามทุกลูกที่มีนั่นแหละ” บางช่วงเป็นบันไดหิน บางช่วงก็เป็นทางลาดแบบดินลูกรัง ถ้าขึ้นสูงขึ้นไปบางช่วงก็ทางเดินก็หินล้วนๆเลยจ่ะ ถามว่าเดินยากมั๊ย เราว่าไม่ยากนะ ไม่ต้องใช้สกิลสูง แต่ช่วงขาขึ้นกล้ามขาต้องแข็งแรงหน่อย


เดินร่วมกับวัว ลา ไปตลอดทาง


บางช่วงก็เดินบนน้ำแข็ง


เตรียมตัวไปอย่างไร
เราตัดสินใจก่อนไปแค่ 3 เดือน ไม่ได้มีการวางแผนเป็นปีล่วงหน้า ปกติเป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ไม่ได้เป็นคนบ้าออกกำลังกาย เคยวิ่งฟูลมาราธอนมา 5 ครั้ง และคาร์ดิโออยู่ตลอดเลยไม่มีปัญหากับอาการเหนื่อยหอบ ช่วงสองเดือนก่อนไปหันมาเน้นเล่นขามากกว่าปกติ สควอทหนักๆช่วยได้เยอะ เห็นได้จากที่เราไม่มีอาการปวดขาหรือเมื่อยขาเลยตลอดการเดินหรืแม้กระทั่งกลับมาแล้ว หลายคนจะถามว่า ถ้าไม่เคยออกกำลังกายเลยจะไหวไหม เอาจริงๆคือไม่สามารถตอบแทนได้ว่าคุณจะไหวไหม แต่ถ้าให้แนะนำ ถ้าเลือกจะไปเที่ยวแบบนี้แล้ว ฟิตร่างกายสักนิดก็ดีจะได้สนุก ไม่ใช่ร่างพังจนไม่เอนจอย แต่ก็ไม่ต้องถึงกับจัดตารางเทรนเป็นเรื่องเป็นราว ไปกลับมาแล้ว เราไม่รู้สึกว่ามันโหดจนคนปกติทั่วไปสามารถไปได้นะ คุณสามารถเดินช้าได้ พักได้ ค่อยๆเดินยังไงมันก็ถึง อ้อ .. ถ้าผ่านวันที่ 2 หรือเส้นทาง Pakding - Namche ไ้ด้คุณก็รอดแล้วล่ะ เพราะสำหรับเราและหลายๆคนที่คุยมา วันนี้คือวันที่หนักที่วุดแล้ว ไต่ควาสูงยาวๆ 2 ชม.


ที่ว่าแน่บางทีก็นิ่ง


นอกจากการเตรียมร่างกายแล้ว อีกสิ่งที่น่ากลัวกว่าความเหนื่อยและอาการปวดเมื่อยคือ อาการแพ้ความสูง อยากให้ศึกษาอาการและวิธีป้องกันก่อนไป มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเป็นหรือไม่จนกว่าจะได้ไป ดังนั้นถ้าเรารู้ลักษณะอาการ คอยสังเกต และป้องกันมันก่อนก็จะดีกว่า


บางช่วงก็ไต่บันไดยาวๆ 


แล้วอาการแพ้ความสูงมันคืออะไรล่ะ
โรคแพ้ควาสูง หรือ AMS หรือ Acute Mountain Sickness ไม่ใช่โรคกลัวความสูงนะ คนละอย่างกัน อธิบายให้ง่ายๆคือ การที่ร่างกายเราไม่คุ้นชินกับระดับออกซิเจนที่น้อยลง เบาลางลงเมื่ออยู่ในระดับความสูงที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ ว่ากันว่าจะเริ่มมีอาการที่ประมาณตั้งแต่ 2,500 ม.ขึ้นไป และไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าใครจะเป็นหรือไม่เป็น และไม่เกี่ยวกับความฟิตด้วยนะ บางคนแข็งแรงมากๆก็เป็นได้ และที่สำคัญคือ อาการนี้ทำให้ตายได้นะจ๊ะ และมีคนตายเพราะ AMS มาแล้ว


ดังนั้น ตลอดการเดินบนเดินบนเส้นทางนี้ เราอยู่สูงกว่า 2,500 ม.ตั้งแต่วันแรกที่เดินแล้ว AMS จึงสามารถมาเยือนเราได้ทุกเมื่อ อาการทันเป็นยังไง เริ่มๆก็อ่อนเพลีย (บางทีก็แยกยากนะเพราะคิดว่าเหนื่อย) ปวดหัวแบบปวดมาก สังเกตได้จากการปวดบริเวณท้ายท้อย (เราโดนมาแล้ว) หนักขึ้นก็จะเริ่มกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ท้องร่วง ไปจนถึงสมองบมและเสียชีวิต ถามว่าป้องกันได้ไหม ป้องกันได้ค่ะ คือ เดินช้าๆ ไม่ขึ้นที่สูงเกินวันละ 500 ม.เพื่อให้ร่างกายค่อยๆปรับตัว ดื่มน้ำเยอะๆ ให้ได้วันละ 4 ลิตร หรือจะกินยา Diamox ก็ได้ แล้วถ้ามีอาการล่ะจะทำอย่างไร กินยา Diamox และพยายามกินข้าว อย่านอนกลางวันเพรากลางคืนจะนอนไม่หลับ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรเดินลงหรือหยุดพักอย่าเพิ่งไปต่อ


มี Helicopter Rescue ไว้บริการ

ขอเล่าประสบการณ์เราแล้วกัน เรามีอาการ AMS อ่อนๆที่ Dingboche (4,400) วันนั้นถึงที่พักแล้วรู้สึกง่วงมาก แต่ก็ยังไม่มีอาการอื่นๆ นั่งเท้าคางอยู่ดีๆหลับไปเลย สะดุ้งตื่นมาปวดหัวมาก แล้วก็ปวดแบบหัวจะระเบิด จนคุยกับไกด์เค้าบอกว่าเรามีอาการแล้ว ต้องบอกก่อนว่าเรากิน Diamox ตั้งแต่มาถึงลุคลา กินวันละครึงเม็ด ไกด์เลยบอกว่า ให้เรากินเพิ่มอีกครึ่งเม็ดตอนเย็นในวันที่มีอาการ แล้วหลังจากนั้นเราก็กินวันละ 2 ครั้งตลอดจนกลับลงมาถึงลุคลา ในวันที่มีอาการตอนนั้นกลัวมากว่าจะเดินต่อไม่ได้ ก่อนนอนกินไทลินนล 8 ชม.สองเม็ดกับ Diamox ตื่นมาดันหายปวดเลยไปต่อ แต่หลังจากนั้นความอยากอาหารเราหายไปเลย กินน้อยมากจนไกด์ยังทัก แล้วก็ไม่เคยหลับสนิทอีกเลยเมื่อขึนถึงระดับ 5000 (ซึ่งไกด์บอกว่าการนอนไม่หลับนี่เป็นอาการปกติ ทุกคนจะเจอ เพราะไกด์และลูกหาบเองก็เป็นเมื่อขึ้นในระดับสูงมาก) ซึ่งการกินไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับนี่แหละมันเลยทำให้เราอ่อนล้าลงเรื่อยๆ


บรรยากาศห้องอาหาร ทุก รร.คล้ายๆกัน


ห้องนอนก็ประมาณนี้

นอนยังไง
ตลอดทางที่เดิน เราจะเดินผ่านหมู่บ้าน และมีโรงแรมเล็ก หรือโรงเตี๊ยมให้เราพักตลอดทาง โรงแรมทุกที่จะหน้าตาคล้ายกันคือ มีห้องอาหาร หรือห้องนั่งเล่นส่วนกลาง มีห้องอาบน้ำ ห้องน้ำรวม มีห้องพักทั้งแบบเตียงเดียว เตียงคู่ ส่วนใหญ่จะไม่มีห้องน้ำในตัว มีบางโรงแรมที่มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำในตัว ในห้องนอนไม่มีฮีทเตอร์ ฮีทเตอร์แบบ manual ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงจะมีแค่ในห้องอาหารส่วนกลางเท่านั้น แต่อย่าจินตนาการถึงความหรูหรา ให้นึกภาพห้องพักโรงแรมสไตล์รีสอร์ทต่างจังหวัดเก่าๆ ราคาไม่เกินคืนละ 400 บาทน่ะ 


ตกดึกล้อมวงหน้าฮีทเตอร์

กินยังไง
เมนูอาหารตลอดเส้นทาง trekking จะเหมือนกันแทบทุกโรงแรม แตกต่างกันที่หน้าตาและรสชาติ แต่ก็ไม่ต่างกันมาก อาหารเบสิคเลยก็ ดาลบัด ไข่เจียว พาสต้า หมี่ผัด ข้าวผัด พิซซ่า มีเนื้อสัตว์คือไก่ และ yak และทูน่ากระป๋อง แต่ทางไกด์ก็จะไม่แนะนำให้กินเนื้อสัตว์นะเพราะมันจะไม่สดแล้วอาจทำให้ท้องเสียได้ อย่าลืมว่าทุกอย่างบนเขาจะต้องขนขึ้นไปจากข้างล่างและสต็อกเก็บไว้ ดังนั้นเพื่อสุขภาพท้องของเรา เลี่ยงได้ก็จะดีกว่า

ถามว่าเอาอาหารไปเองได้ไหม เอาไปได้ค่ะ เนื้อสัตว์ก็เอาไปได้ (สำหรับเส้น EBC นะ) แต่ทุกโรงแรมจะบังคับให้เนราสั่งอาหารอยู่แล้ว ถ้าเอาโรซ่าพร้อมไปเอง อาจจะสั่งเป็นข้าวกับไข่เจียว ไข่ดาว หรือซุปก็ได้ คือขอแค่สั่งอาหารจะสั่งอะไรก็ได้ อ้อ..สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ควรกินอาหารให้หมด อย่าเหลือทิ้ง เราโดนไกด์ว่าตลอดเรื่องนี้ เค้าบอกว่าของทุกอย่างขนมาจากข้างล่าง ยูรู้ไหมว่าค่าขนมันแพงมาก แล้วยูจะมากินเหลือทำไม คนหลายคนเขายังไม่มีกินแบบนี้ อาหารแต่ละจานไซส์ใหญ่ค่ะ เรากินก่งมากยังกินไม่หมด ดังนั้นสาวๆคนไหนกินน้อย ก็บอกตอนสั่งได้นะ ว่าเอาครึ่งเดียว ไม่พอค่อยสั่งเพิ่มได้


บางส่วนของอาหารที่กินตลอดทริป

มีอินเตอร์เน็ตไหม
สำหรับเครือข่ายไทย ยังไม่มีบริการโรมมิ่งไปเนปาล แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะอดโพสต์ ไลค์ เม้นท์ แชร์ เพราะตลอดเส้นทางมีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ตามโรงแรมถ้ามันไม่เสียนะ WIFI แบบ unlimited อยู่ที่ 500 รูปี และถ้าสูงขึ้นไปจากนัมเชจะไม่มี WIFI แบบunlimited แต่จะเป็น pre-paid WIFI ของ Everest Link ราคาอยู่ที่ 200 MB 500 รูปี แนะนำว่า สำหรับ pre-paid อย่าใช้เล่นไลน์ อย่าใช้โพสต์รูป เราเจ็บมาแล้ว โพสต์ รูปหมดเกลี้ยง แต่สามารถใช้แชท หรือโทรผ่าน Facebook Messenger ได้ประมาณ 45 นาทีนะ สัญญาณโทรศัพท์มีเรื่อยๆ เราไม่ได้ซื้อซิม แต่ก็คุยกับไกด์ว่าถ้ามีเหตุฉุกเฉินต้องโทร ก็จะขอใช้ของเขาแล้วจ่ายตังให้เอา

Everest Link pre-paid WIFI

Everest Link pre-paid WIFI


อาบน้ำยังไง
ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้อาบให้เตรียมใจเอาไว้เลย ดังนั้น .. ทิชชู่เปียกคือเพื่อนที่ดีที่สุด แต่ถ้าจะอาบก็มีน้ำร้อนแบบน้ำต้มด้วยแก๊สให้อาบ ซึ่งทุกโรงแรมจะมีห้องอาบน้ำให้แหละ ค่าอาบน้ำร้อน อยู่ที่ประมาณ 350 รูปี แต่ถ้าขึ้นสูงเลยจากนัมเชขึ้นแล้ว ไกด์จะไม่ค่อยแนะนำให้อาบน้ำนะเพราะเกรงร่างกายจะปรับตัวไม่ได้ อีกอย่างเราว่ามันหนาวจนไม่อาบก็ไม่รู้สึกอะไร สำหรับการล้างหน้าแปรงฟัน ให้เอาน้ำร้อนใส่กระติกอะลูมิเนียมตอนกลางคืน เอาไปกอดนอน ตอนเช้าน้ำจะมีอุณหภูมิพอเหมาะในการเอามาล้างหน้าแปรงฟัน 

ใช้กระเป๋าแบบ duffle ก็ง่ายดี


จัดกระเป๋ายังไง เอาอะไรไปบ้าง
เคยเขียนเล่าเรื่องของที่เอาใส่กระเป๋าไปแล้วที่นี่


ทางเดินบางช่วงคือการเดินริมเขา พลาดคือร่วง

อันตรายไหม
ตลอดการเดินทางเราไม่รู้สึกว่ามันอันตรายเลยนะ แต่ก็ควรใช้สติในการเดิน เพราะถ้าพลาดไปร่วงไปก็ไม่รอดแน่ๆ ถ้าเป็นเรื่องของอาชญากรรม เรามีความรู้สึกว่ามันไม่น่ากังวลเลย เราเดินทางคนเดียว ตลอดทางอยู่กับไกด์ลูกหาบซึ่งเป็นผู้ชายทั้งคู่ ก็มีคนถามว่าไม่กลัวเค้าทำอะไรหรอ ลองมานึกย้อน ตอนนั้นก็ไม่กลัวนะแต่ระวังตัว การเดินทางคนเดียวไม่ว่าจะไปไหนก็ต้องระวังตัวอยู่แล้ว สำหรับทริปนี้ แม้เราจะเดินทางคนเดียว แต่คนทางบ้านจะรับรู้แผนการเดินของเราว่าเราไปกับเอเจ้นท์ไหน ติดต่อยังไง วันนี้เราจะเดินทางไหนไปไหน จะค้างคืนที่ไหน และจะพยายามรายงานตัวทุกครั้งที่มีอินเตอร์เน็ต ถ้าวันไหนรุ้ว่าจะไม่มีเน็ตก็จะบอกล่วงหน้าไปเลยว่าจะหายไปกี่วัน ส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่าคนเนปาลจิตใจดีนะ ยังไม่ขี้โกงหรือนิสัยเสียออกนอกหน้าขนาดนั้น ฮ่าๆ

เราจะเจอเพื่อนร่วมทางใหม่ๆไปตลอดทาง


ถ้าขาดอะไรมีร้านซื้อของไหม
ตลอดทางมีร้านขายของตลอด เป็นร้านขายของชำ ขายน้ำ ขายขนม มีอุปกรณ์เล็กๆน้อยๆ แต่ถ้าเป็นที่ Namche Bazaar จะมีทุกสิ่งให้เลือกสรรมากที่สุด แต่ราคาก็จะสูงกว่าที่ทาเมล ดังนั้นเหมาะจะเอาไว้ช้อปสำหรับของที่ขาด หรือเดินมาแล้วครึ่งทางเริ่มรู้สึกว่าจำเป็นจะดีกว่า อะไรที่รู้อยู่แล้วว่าจะซื้อก็ซื้อตั้งแต่ที่ทาเมลไปเลย


ทาแมลมีทุกสิ่งให้เลือกสรร

TNF สาขาสูงที่สุดในโลก Namche Bazaar

Namche Bazaar


ชีวิตประจำวันระหว่างการเดินทางเป็นยังไง
ตื่น กินข้าวเช้า เดิน พักกินข้าวกลางวัน เดิน เข้าที่พัก กินข้าวเย็น นอน หลักๆมีแค่นี้จริงๆ ใช้เวลาเดินวันละประมาณ 3-7 ชม. แล้วแต่วัน แล้วแต่เส้นทาง ถ้าใครที่เดินช้าก็อาจจะเริ่มเดินเร็วหน่อย เพราะควรจะเข้าถึงที่พักก่อนฟ้าจะมืดนะจ๊ะ

ชีวิตทุกวันคือการเดิน เดิน เดิน

ถ้าเหนื่อยเราก็วางกระเป๋าแล้วไปพัก


ทั้งหมดนี้ก็เป็นการรวบรวมคำถามยอดฮิตที่เรามักจะโดนถามโดยคนรอบตัว เท่าที่พนึกออกก็ประมาณนี้ คิดว่ารู้เท่านี้ก็น่าจะพอทำให้มีภาพในหัวขึ้นบ้าง หรืออาจจะทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะไปหรือไม่ไป จะรอดหรือไม่รอด รายละเอียดอื่นๆจะเล่าแทรกไปตอนเขียนบันทึกการอีกที เชื่อเราสิ มันไม่ยากเกินที่คนๆนึงจะทำได้หรอก อย่าไปกลัว อย่าคิดเยอะ J



จบวันเราก็จะเฮแบบนี้

เดินถึง EBC เราก็จะเริงร่าแบบนี้


[การเดินทางครั้งนี้เกินขึ้นระหว่าง 17-31 ธันวาคม 2016]




Wednesday, January 11, 2017

[Foot Fit Journey] จัดกระเป๋าไป Everest Base Camp: ep:02 เอาอะไรใส่กระเป๋า

เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นคำถามโลกแตกสำหรับทุกคนที่กำลังจะไป trekking เป็นครั้งแรก และจะยิ่งงงมากสำหรับการไป trek ครั้งแรกในที่ๆเรานึกภาพไม่ออกมาก่อนเลยว่าชีวิตตลอดการเดินทางจะเป็นอย่างๆไร ไหนจะต้องเตรียมข้าวของไปให้ครบ แต่ก็ต้องจำกัดปริมาณและน้ำหนัก ที่สำคัญเลยคือ สัมภาระทุกย่างที่เราเลือกเอาใส่กระเป๋าติดตัวไปเดินทางด้วยจะต้องไม่กลายเป็น ภาระของเราทีหลัง

เราไม่เคยไป trekking มาก่อนเลยในชีวิต (โอเค..การเดินขึ้นภูสอยดาวเราจะไม่นับว่ามันเป็นการ Trekking) และการตัดสินใจไป trekking ที่ Everest Base Camp ในครั้งนี้เป็นทั้งการไปเนปาลครั้งแรกของเรา และยังเป็นการ trekking ระยะไกลของเราอีกด้วย ที่สำคัญคือ .. เราไปคนเดียว การจะหวังของขาดแล้วพึ่งใครคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นความงงในการจัดกระเป๋าของเราจึงมีอยู่มาก พยายามหาข้อมูลลอกเลียนแบบคนที่เคยไปมาแล้วให้มากที่สุด ซึ่งหลายๆคนก็จะเตรียมของในลิสต์ที่ใกล้เคียงกันนะ แต่อย่างว่า ไลฟ์สไตล์ และวิถีของคนเราไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับ มาลิสต์จนสุดท้ายกลายเป็นลิสต์ของตัวเราเอง ซึ่งเราจะขอเล่าว่าเราเอาอะไรไปบ้าง  และจะเม้าท์ให้ฟังด้วยว่าอะไรที่เอาไปแล้วมันโคตรไร้ประโยชน์


แกแบกอะไรไปเยอะแยะ!

ด้วยความที่เป็นผู้หญิงที่มีนิสัยเผื่อจนเป็นความเคยชิน เวลาจัดกระเป๋าเดินทางทุกครั้ง เรามักจะโยนของที่คิดว่า “มันน่าจะจำเป็น” หรือ “มันน่าจะได้ใช้น่ะ” ใส่กระเป๋าเสมอ แต่ทริปแบบนี้มันเผื่อไม่ได้ไง (แต่อีนี่ก็เผื่อไปเยอะเลยนะแก) พยายามเป็นผู้หญิงแพคไลท์ เพราะตั้งใจจะไม่ให้น้ำหนักกระเป๋าเกิน 15 กก. เพราะแม้จะมีลูกหาบ แต่เราต้องมั่นใจว่าในเวลาที่ไม่มีลูกหาบ เราสามารถรับผิดชอบตัวเราเองได้อย่างไม่ต้องไปรบกวนใคร


อะไรอยู่นกระเป๋า

ทริปของเราเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคม ดังนั้นแน่นอนว่ามันต้องหนาว เท่าที่สอบถามทางเอเจ้นท์ได้ความว่าหนาวแต่ไม่ได้หนาวมากนะเธอ คือทางนั้นตอบมาแบบอากาศเย็นชิวๆ แต่เราเป็นผู้หญิงที่ราบลุ่ม ใต้เส้นศูนย์สูตรไง เย็นของเขา มันอาจจะหนาวสุดขั้วของเรา ดังนั้นสิ่งที่กังวลมากที่สุดของทริปนี้คือ อุปกรณ์กันหนาว และบวกกับการไม่เคย trekking ดังนั้นเราไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย จะให้ซื้อของแบรนด์ทุกอย่างก็ไม่ไหว สุดท้ายก็จัดการจัดกระเป๋ามาได้ตามนี้  ขอสรุปเป็นอุปกรณ์ทั้งหมดที่เราเอาติดตัวไปในทริปนี้เลยแล้วกัน

กระเป๋า Backpack


ของทั้งหมดที่แบกไป ก้อนดำเล็กคือถุงนอน -20

ทริปนี้เราใช้กระเป๋าของ Deuter รุ่น Aircontact ขนาด 45 + 10L ที่เลือกขนาดนี้เพราะลองสะพายแล้วคิดว่าพอเหมาะพอดี ไม่ใหญ่ไปและไม่เล็กไปสำหรับผู้หญิงลำตัวสั้นอย่างฉัน แต่พอเอาไปใช้จริงกลับรู้สึกว่ามันจุของได้น้อยไปนิด (ก็ดูหล่อนแบก!) การใช้งานโดยรวมเราว่ามันกระจายน้ำหนักของกระเป๋าได้ดี หากจัดข้าวของใน layout ที่ถูกต้อง ทนทาน ทนการนั่งทับ กดทับ และซิปทนมาก ไม่ต้องหวั่นเรื่องซิปแตกเลย แต่เนื่องด้วยทริปนี้เรามีลูกหาบ เลยไม่ได้แบกกระเป๋าเองสักเท่าไหร่ แบกเองในช่วงสั้นๆเท่านั้นเลยคิดว่ายังไม่สามารถสรุปเรื่องปวดหลังไหมอะไรแบบนี้ได้ อ้อ .. สำหรับใครที่มักจะจ้างลูกหากในการ trekking อยู่แล้ว เราว่าการใช้กระเป๋าแบบ duffle น่าจะสะดวกสะบายมากกว่า ง่ายทั้งสำหรับเราเองในการหยิบใช้ของ จัดของ และง่ายสำหรับลูกหาบในการแบกด้วย

รองเท้า




เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่เราเลือกจะลงทุนโดยการซื้อของดีมาใช้ เพราะกิจกรรมหลักของการเดินทางครั้งนี้คือ “การเดิน” ดังนั้นการมีรองเท้าที่ดี จะทำให้ทุกอย่างราบลื่นไม่มีสะดุด ตกลงเลือกซื้อของ The North Face รุ่น WOMAN’S STORM EVO MID GTX เพราะดูแล้วชอบดีไซน์มากที่สุด ด้อมๆมองๆไปลองมาหลายที จนสุดท้ายก็ได้โปรโมชั่นเด็ด จาก 6,8xx เหลือ 4,6xx บาทเลยซื้อทันที หลังจากใช้งานจนจบทริปกลับมา กล้าพูดเลยว่ารองเท้าคู่นี้คุ้มค่ากับการลงทุนมาก ตอนแรกก็กังวลว่าจะรอดไหมเพราะเป็นการเปิดซิงรองเท้าใหม่ เอาไปใช้เดินทางไกลทั้งที่ไม่เคยใส่มาก่อนเลย แต่พี่เค้าก็ทำหน้าที่ได้ดี หน้ากว้างใส่สบายเหมาะกับคนเท้าบานๆอย่างฉัน เดินบนหินบนกรวดไม่รู้สึกเจ็บเลย แต่เวลาเดินบนน้ำแข็งหรือทรายก็มีลื่นนะ คงเป็นเพราะสกิลในการเดินที่ต่ำของเราด้วย ที่เด็ดสุดคือ เจอรองเท้ารุ่นเดียวกันนี้ แต่เป็นของผู้ชาย ขายลดราคา 50% อยู่ที่ Namche Bazaar เหลือคู่ละ 2,7xx บาท! อารมณ์เสียในความถูก

เสื้อผ้า

(1) เสื้อThermal หรือคนไทยเรียกติดปากว่าลองจอน หรือฮีทเทครุ่น ultra warm ของ Marks & Spencer x 2 (ยี่ห้อนี้ดีกว่ายูนิโคล่มาก ราคาต่างกันนิดเดียว ยูนิโคล่ใส่แล้วไม่อุ่นเลย)
(2) กางเกง Thermal รุ่น ultra warm มั๊ง รุ่นหนาสุดอ่ะ ของ Mark & Spencer x 2 (สุดท้ายเอามาใส่เป็นกางเกงตัวเดียวเลยในวันที่อากาศไม่เย็นมาก)


สุดท้ายใส่ thermal เดินสบายสุด
(3) กางเกง Uniqlo รุ่น bloctech ที่มีผ้ากันลมด้านใน ของผู้ชาย x 3 (สิ่งนี้คือความพลาด พอเอาไปใส่จริงมันหนาเกินไป ระหว่างวันที่เดิน trek มันทำให้ร้อนและอึดอัดมาก เลยตัดสินใจตัดซับในทิ้ง แล้วเอา thermal มาใส่ในวันที่หนาวเป็นชั้นในแล้วใส่กางเกงทับอีกทีจะพอดีกว่า เหลือไว้ 1 ตัวใส่นอนจะอุ่นกำลังดี ถ้าได้ไปอีก จะเลือกเอากางเกงวิ่งแบบ compression หรือรัดรูป ที่หนาหน่อยสำหรับใส่วิ่งฤดูหนาว หรือ ซื้อกางเกง trekking ดีๆตัวเดียวพอไปแทน)


เสื้อฟลีซคอเต่า และกางเกงบลอคเทคในวันที่ยังไม่ตัดทิ้ง

(4) เสื้อผ้าฟลีซคอเต่า แขนยาวยูนิโคล่ x 4 (สิ่งนี้คือความพลาด สำหรับการ trek 3 วันแรก เพราะระหว่างเดินอากาศร้อนมาก เสื้อหนาไป และด้วยความที่เป็นคอเต่าทำให้อึดอัด ถ้าได้ไปอีก จะเอาเป็นเสื้อ trekking หรือเสื้อวิ่ง เสื้ออกกำลังกายแขนยาว ผ้าใยสังเคราะห์ที่แห้งเร็ว แบบคอกลม หรือคอซิปจะดีกว่า เอาไป 3 ตัวก็พอ และถ้าไม่ใส่แข่นยาว ควรมีปลอกแขนกันแดด)
(5) เสื้อในแบบสปอร์ต บรา รุ่นไร้ตะเข็บ ซื้อตลาดนัดตัวละ 100 x 4 (ใส่สบาย ไม่อึดอัด เบาด้วย)
(6) กางเกงในกระดาษ แพคละ 6 ตัว 3 แพค
(7) ชุดนอน - เตรียมไว้ 1 ชุดใส่ทุกคืน คือ เสื้อ thermal กับกางเกง thermal ที่เอาไปนั้นแหละ
(8) เสื้อแขนยาวผ้าแคชเมียร์ Uniqlo x 1 เอาไว้ใส่นอน
(9) ชุดใส่ไปจากกทม. และสำหรับใส่กลับ กทม. 1 ชุด เป็นชุดเดียวกัน ฝากไว้ที่ รร.ได้
(10) รองเท้าผ้าใบ x 1 (อันนี้ไม่จำเป็น แต่ถ้ามีที่พอ อยากได้รองเท้าไว้เปลี่ยนใส่เวลาเดินในเมืองก็เอาไป)
(11) รองเท้าแตะ x 1 (เอาไว้ใส่อาบน้ำ หรือใส่ใน tea house เลือกแบบสวมจะใส่ง่ายกว่าแบบหนีบ เพราะอากาศหนาวและเราขะใส่ถุงเท้าตลอดเวลา)

อุปกรณ์กันหนาว กันแดด

(1) Zip-in jacket ของ The North Face ไม่รู้ชื่อรุ่น x 1 (เป็นเสื้อสองชั้น ชั้นนอกกันลม กันน้ำ ชั้นในเป็น fleece หนา ถ้าไม่ขี้หนาวมาก ตัวนี้ตัวเดียวเอาอยู่นะ)


Jacket The North Face สองชั้น

(2) Down Jacket 700 The North Face x 1 (อันนี้คุ้มค่าการลงทุนที่สุดทั้งใส่นอน ใส่เดิน ใส่อยู่ใน tea house)
(3) Ultra Light Down Uniqlo x 1 (บอกแล้วเป็นผู้หญิงเผื่อ สุดท้ายก็ได้ใช้นะ ใส่ down jaceket สองตัวทับกันในวันหนาวพีค)


ถุงมือที่ใส่สลับอยู่สองคู่ แต่ใส่คู่ขวามือบ่อยกว่า
 สภาพหลังซักเลยเยินไปหน่อย

(4) ถุงมือ The North Face x 4 (ซื้อมาสองรุ่น ยืมเพื่อนมาอีก 2 อัน)
(5) หมวก fleece Columbia x 1
(6) หมวก fleece The North Face x 1 (อันนี้ไม่เคยหยิบมาใช้จนจบทริป)


หมวก Columbia กลายเป็นว่าใบนี้ใส่ตลอดทริป

(7) หมวกไหมพรมซือในทาเมล x 2 (หมวกนี้ดีกว่าของแบรนด์ดังมากกกก ซื้อแค่นี้พอ อุ่นกว่าเยอะ)
(8) ถุงเท้า Uniqlo รุ่นหนาสุด มี wool ผสม x 6
(9) ถุงเท้า wool Marks & Spencer x 2
(10) ถุงเท้าหนาๆของญี่ปุ่น x 1
(11) ถุงนอน -20 องศา x 1 (เช่าที่ทาเมล รวมในแพคเกจ แต่ให้ทำใจเรื่องกลิ่นอับหน่อยนะ)


ถุงเท้าไหมพรม อุ่นมากกก ใส่นอน ใส่ใน tea house ดีงามมากกก

(11) ถุงเท้าไหมพรม ซื้อในทาเมล x 1 (สิ่งนี้คือดีงาม มีคู่เดียวรอดทุกคืน คู่ละ 100 บาท)
(12) ผ้า buff x 2 ซื้อจาก Decathlon ไปแล้วไปซื้อเพิ่มที่ Dingboche (อันนึงเอาคาดผม เลยซื้ออีกอันมาปิดกันฝุ่น.. สุดท้ายก็ไม่ได้ปิด ฮ่าๆๆ)
(13) ปลอกคอกันหนาว Uniqlo x 1 (ไม่เคยหยิบออกมาใช้)
(14) ผ้าพันคอ heatech Uniqlo x 1 (เอาผ้าพันคอไปเผื่อก็ดี อากาศหนาวคอควรอุ่น)
(15) หมวด visor Nike x 1 (หมวกมีปีที่เอาไว้บังแดดได้จำเป็นมาก เพราะจะช่วยไม่ให้หน้าไหม้ แล้วยังทำให้มองทางได้สะดวกขึ้นเพระาแดดจะไม่แยงตา)
(16) แว่นกันแดด เลนส์ Polarized x 1 (เราซื้อของ Decathlon ใช้ดีเลยทีเดียว ควรซื้อแบบโพราไลซ์เราะจะช่วยตัดแสงได้ แนะนำให้ใช้แว่นดีๆ จะสบายตาและมีความสุขเมื่อต้องใส่ตลอดเวลา)

ของใช้ส่วนตัว

(1) กระเป๋าเครื่องสำอาง เขียนเล่าไปแล้วที่นี่
(2) สบู่ แชมพู แปรงสีฟัน ยาสีฟัน (สุดท้ายจะได้อาบน้ำไม่เกิน 4 ครั้ง ไม่ต้องเอาไปเผื่อเยอะ ไซส์เล็กๆก็พอ)
(3) Body lotion (จำเป็นมากเพราะอากาศแห้ง แห้งมากจะทำให้คัน)
(4) แป้งเด็ก (ไม่เคยหยิบออกมาใช้)
(5) แป้งโยคี (ใช้ทาจักแร้ โรยเท้าก่อนใส่รองเท้า ดีงามมาก)


ของใช้ส่วนตัวที่เอาไปเผื่อเยอะแยะ

(6) ผ้ารัดเข่าเผื่อไว้ใช้ขาเดินลง x 2 (ไม่เคยหยิบออกมาใช้)
(7) Thermaplast x 10 (แผ่นติดที่ช่วยให้ร่างกายอุ่น ไม่สามารถทนทานความหนาวที่นี่ได้ อย่าพกไปให้หนัก แกะปุ๊ย มันเย็นปั๊บ)
(8) พลาสเตอร์ปิดแผล (จำเป็น เพราะเราโดนนู่นนี่บาดมือประจำ)
(9) ผ้าเช็ดตัว microfiber x 1 (เราซื้อ Decathlon อีกแล้ว แห้งไว้ พกพาสะดวก ของหลายอย่างเค้าโอเคเลยนะ เห็นฝรั่งหลายคนก็ใช้ของแบรนด์นี้)
(10) ยา ยาประจำตัว ยาสามัญทุกอย่าง เช่น Diamox (ควรเตรียมไป) แก้ปวด แก้หวัด แก้ไอ แก้ท้องเสีย (อันนี้เราต้องกินมาแล้ว) ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้เมา (ในกรณีที่มีการนั่งรถเพราะถนนเนปาลโหดมาก) ยาดม ยาอม 

อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์

(1) กล้อง Canon G 11
(2) แบตกล้อง 2 กล้อง (ค่าชาร์จไฟแพงขึ้นตามระดับความสูง ประมาณ 350 รูปี แบต 1 ก้อนเราใช้ได้ 3-4 วัน)
(3) ที่ชาร์จแบตกล้อง
(4) ที่ชาร์จ iPhone
(5) Headlamps (ซื้อที่ทาเมลถูกกว่า)
(6) หัวปลั๊ก universal (สุดท้ายเอาที่ชาร์จให้ รร.ชาร์จ เค้าก็ชาร์จได้หมดนะ)
(7) ไฟฉายแบบมือถือ (ไม่เคยหยิบมาใช้ บอกแล้วว่าเป็นผู้หญิงเผื่อ)

ทุกอย่างล้วนมีประโยชน์ระหว่างทาง

อุปกรณ์และของใช้อื่นๆ

(1) ทิชชู่เปียก x 2 (สิ่งนี้คือที่สุดของความดีงาม ขาดอะไรได้แต่ขาดสิ่งนี้ไม่ได้!) และ ทิชชู่เปียกเดทตอล x 1 (กะเอาไว้เช็คฆ่าเชื้อโรค)
(2) กระดาษทิชชู่ (เราเอาไป 1 ห่อใหญ่ หมดตอนลงมาถึงลุคลาพอดี)
(2) Alcohol Gel x 1 (เอาไว้ทำความสะอาดมือก่อนกินอาหาร)
(3) ชุดมีด swiss army
(4) ถุงพลาสติก + หนังยาง (เอาไปใส่เสื้อผ้าใช้แล้ว ใส่ขนมที่กินไม่หมด)
(5) ถุงสุญญากาศซื้อจากไดโซะ
(6) เสบียงอาหาร (ไม่ต้องเอาไปเยอะ มันไม่ได้อัตคัต แต่ถ้าติดกินเนื้อสัตว์ควรพกไปบ้างให้พอหายอยาก)
(7) ปลาแผ่น Bento (ปลาแผ่นรสจัดตัวช่วยที่ดีมากสำหรับยามอยากกินอะไรมีรสชาติ)
(8) ชอคโกแลต ท็อฟฟี่ biscuit (พกไปเถอะ ไม่ต้องเยอะ มีขายตลอดทาง เราเอาไปเยอะมาก สุดท้ายแจกเด็ก แจกลูกหาบ)
(9) เสื้อกันฝนจาก 7-11 x 1 (ไม่เคยหยิบออกมาใช้เพราะฝนไม่ตก)
(10) ผงลาบโลโบ้ (ตัวนี้คือเทพสุด ถ้าเป็นคนติดรสจัดแนะนำว่าไม่ควรพลาด เอาไปเถอะ คลุกกับอะไรกินก็อร่อย)
(11) sleeping silk liner (เรียกงี้ป้ะ) x 1 หรือผ้าซับในถุงนอน (มันคืออีกหนึ่งความดีงาม สุดท้ายแม้ไม่ได้ใช้ถุงนอนแต่เราก็เอาสิ่งที่ปูบนเตียงทุกคืนแล้วสอดตัวเองเข้าไปนอนนนั้น มันทำให้อุ่นขึ้น 3 ระดับ และรู้สึกดีที่ไม่ต้องนอนบนผ้าปูเตียงเค้า)
(12)  Trekking Pole x 2 (มีไว้ช่วยทุ่นแรกตอนเดินก็ดี แต่ถ้าใครไม่ถนัดก็ไม่ต้องใช้ก็ได้ ซื้อที่ทาเมลมีเยอะแยะ เราซื้อ Decathlon ไป)
(13) กระติกน้ำแบบอลูมิเนียม x 1 (เอาไว้ใส่น้ำร้อน แล้วไปนอนกอดตอนกลางคืน ตื่นขึ้นมาน้ำจะอุ่นพอดีสำหรับใช้ล้างหน้าแปรงฟัน มันคือทิปที่ดีเยี่ยม)



ใครขาดเหลืออะไร Thamel และ Namche Bazaar มีทุกอย่างให้เลือกสรร

นี่คือทั้งหมดที่เราเอาใส่กระเป๋าไป ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกชิ้นมันได้ใช้นะ แต่ก็รู้สึกว่าขนไปเยอะเกินไป ถ้าให้จัดกระเป๋าอีกรอบ จะเอาเสื้อผ้าไปน้อยลง เอาของกินไปน้อยลง และเอาทุกอย่างที่มันไม่ได้ใช้ออกไป ไม่ต้องจัดกระเป๋าตามเราก็ได้ เอาแบบที่เป็นสไตล์ของตัวเอง แต่เชื่อเถอะ อะไรที่เราบอกว่า “มันคือความดีงามมม” คุณควรลองหาที่ในกระเป๋าเอามันไปด้วยนะจ๊ะ

[การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ 17 - 31 ธันวาคม 2016]